สารสนเทศชี้แจงเกี่ยวกับการต่อสัญญาที่ดินโครงการลาดพร้าว

Back

06 สิงหาคม 2550



วันที่ 6 สิงหาคม 2550

เรื่อง สารสนเทศชี้แจงเกี่ยวกับการต่อสัญญาที่ดินโครงการลาดพร้าว

เรียน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เนื่องจากเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ราคาหุ้นของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") ปรับตัวลดลงผิดปกติ ทำให้มีนักลงทุนสอบถามบริษัทฯ เกี่ยวกับ การต่อสัญญาที่ดินโครงการลาดพร้าวว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร บริษัทฯ จึงขอชี้แจงให้นักลงทุน ได้ทราบ ดังนี้

ตามที่เป็นข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ว่าคณะกรรมาธิการคมนาคมแห่งสภานิติบัญญัติ แห่งชาติมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ("การรถไฟฯ") ยกเลิกการเจรจาสัญญาเช่าที่ดินและ ทรัพย์สินในโครงการสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินกับเซ็นทรัล และให้มีการเปิดประมูลใหม่

บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า การพิจารณาโครงการดังกล่าว กำลังอยู่ในระหว่าง ดำเนินการ และยังไม่ได้มีการยกเลิกการเจรจาตามที่เป็นข่าว เพียงแต่ บริษัทฯ ได้เคยทำหนังสือขอต่อสัญญาไปยังการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 หลังจากนั้น การรถไฟฯ ได้มีหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ว่า "ยังไม่อาจ พิจารณาดำเนินการใดให้ได้" ซึ่งหนังสือดังกล่าวไม่ได้เป็นการชี้ขาดแต่อย่างใด ว่าการรถไฟฯ จะไม่ต่อสัญญากับเซ็นทรัล

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ได้เคยทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายกรณีบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนาฯ ประสงค์จะขอเช่าทรัพย์สินตามโครงการเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว บริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน เพื่อประกอบกิจการต่อไป ซึ่งความเห็นทางกฎหมายของ ทั้งสองสำนักงานที่ตอบกลับมายังการรถไฟฯ ก็สอดคล้องกัน สรุปได้ว่า เนื่องจากสัญญา เช่าที่ดินที่กระทำกันในปี พ.ศ. 2521 กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อครบ 30 ปี อาคาร สิ่งก่อสร้าง อุปกรณ์ และระบบต่างๆ ในที่เช่า ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ทั้งสิ้น และการรถไฟฯ จะให้บริษัทฯ เช่าทั้งหมดนี้เพื่อประกอบกิจการต่อไป ในอัตราค่าเช่า และผลประโยชน์ตอบแทนตามที่จะได้ตกลงร่วมกัน หากคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ผู้เช่าส่งมอบอาคารและสิ่งก่อสร้างทั้งหมดให้แก่ผู้ให้เช่าทั้งสิ้น ดังนั้น ขั้นตอนที่จะ ต้องดำเนินการต่อไป ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 กล่าวคือ การรถไฟฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เพื่อเจรจาต่อรองค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของรัฐ โดยไม่ต้องดำเนินการประกาศ เชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการใหม่ และคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สมควรที่การรถไฟฯ จะต้องเร่งรัดการดำเนินการ โดยให้คำนึงถึงระยะเวลาการสิ้นสุดของสัญญา รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคใน การประกอบกิจการของเอกชนประกอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐ

บริษัทฯ เชื่อว่าหน่วยงานของรัฐย่อมจะถือปฏิบัติตามแนวทางการวินิจฉัย ของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะมีมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ที่ได้ส่งปัญหาทางกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาหาข้อยุติ เมื่อคณะกรรมการ กฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใด ก็ให้เป็นไปตามความเห็นนั้น

ทั้งนี้ก็เพราะว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นสถาบันที่ปรึกษากฎหมายของรัฐที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ มีหน้าที่ให้ความเห็น ทางกฎหมายอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วนเป็นกลาง โดยปราศจากอคติใด ๆ เป็นกลไกสำคัญ ประการหนึ่งของการปกครองประเทศโดยกฎหมาย (rule of law) เป็นหลักประกันว่า การใช้อำนาจทางปกครองจะเป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ไม่ตกเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

ดังนั้น การเจรจาต่อรองค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของรัฐในเรื่องนี้ ตามความเห็นทางกฎหมายทั้งของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการสูงสุด จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่การรถไฟฯ ได้แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งมาตรา 13 กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการมีจำนวนรวม 12 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายกระทรวงและหน่วยงานราชการรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการแทรกแซงใด ๆ และ ป้องกันการพิจารณา มิให้เป็น อำนาจของบุคคลผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว อันอาจเป็นไปโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน

ขณะนี้ เท่าที่ทราบ คณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ระหว่างการว่าจ้าง ผู้ประเมินราคาทรัพย์สินอิสระรายแรก และกำลังสรรหาผู้ประเมินราคาทรัพย์สินอิสระ รายที่สอง เพื่อให้ดำเนินการศึกษา ประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณากำหนดราคาเพื่อใช้ในการเจรจาต่อไป

บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าการดำเนินการในขั้นตอนการเจรจาจะเป็น ไปตามกระบวนการทางกฎหมายด้วยความโปร่งใส อย่างมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและ เป็นธรรม โดยบริษัทฯ ขอยืนยันว่า พร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเจรจา และการทำสัญญาใหม่ทุกประการ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

(นายนริศ เชยกลิ่น)
เลขานุการคณะกรรมการ